[Celebrating Pride Month] LGBTQIA+ กับเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ลดช่องว่างด้วยความเข้าใจ
Updated: Oct 27, 2021
เทคโนโลยีต้อง “มองเห็น” ผู้ใช้งาน
เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดมาจากการ ‘มองเห็น’ และ ‘เข้าใจ’ ผู้ใช้งานเสมอ Telehealth หรือเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลที่เป็นการนําบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาพยาบาลไปสู่ประชาชน ผ่านช่องทางสื่อสารโทรคมนาคมชนิดต่างๆ เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ที่มีมายาวนาน แต่มีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและถูกกระตุ้นให้ใช้อย่างแพร่หลายในช่วงของการระบาดของโควิด-19
Telehealth อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ผู้ใช้งานมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น จึงเกิดเป็น Telehealth ที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer หรือ Questioning, Intersex, Asexual และอื่น ๆ ) ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น การพบแพทย์ด้วยช่องทางนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการและแพทย์ได้มองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่ายแบบ real-time ผ่านระบบ VDO Conference
Telehealth จึงเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งสามารถ ‘มองเห็น’ กันและกันในมิติของการพบแพทย์ด้วยเทคโนโลยีผ่านกล้อง และเป็นการ ‘มองเห็น’ ที่มีความหมายโดยนัยว่า ไม่ว่าคุณจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใด ความต้องการเข้าถึงระบบสุขภาพขั้นพื้นฐาน เป็นธรรมและตอบโจทย์ความต้องการก็ถูก ‘มองเห็น’ เช่นเดียวกัน
บทความจาก Tech By True Digital ในวันนี้ ขอร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายนของทุกปีหรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้วยการพูดถึง Telehealth สำหรับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ เพื่อที่จะตอกย้ำว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจากความเข้าใจ ไม่เพียงแค่ย่อโลกอันห่างไกลแต่กลับทำให้เราได้เข้าใจ เข้าใกล้และมองเห็นกันมากขึ้น
หากไม่เข้าใจ ใกล้แค่ไหนก็ไกล
ระยะทางอาจไม่ใช่สาเหตุหลักของการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่การถูกเลือกปฏิบัติและการตีตราเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับบริการทางการแพทย์ก็ทำให้คนในหลากหลายกลุ่มอัตลักษณ์ถูกกันออกจากการเข้าถึงทางการแพทย์ไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีผลสำรวจจาก National Center for Transgender Equality สหรัฐอเมริกาพบว่า 23% ของคนข้ามเพศ หรือ Transgender ในสหรัฐอเมริกา รู้สึกกลัวการถูกเลือกปฏิบัติจากการรับบริการสุขภาพ, 33% ถูกปฏิเสธการรักษา หรือถูกคุกคามระหว่างการรักษา และมีถึง 55% ถูกปฏิเสธความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลประกันสุขภาพจากโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการผ่าตัดแปลงเพศ
สำหรับในประเทศไทยแม้ข้อมูลทางสถิติจะยังไม่ปรากฏชัด แต่ปัจจุบันมีรายงานจากทีมวิจัยร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่มประชากร LGBTIQN+* ในประเทศไทย ปี 2564-2566 ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ระบุว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยประสบกับความเป็นธรรมทางสุขภาพ และเข้าไม่ถึงระบบการประกันสุขภาพ ทำให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้างการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
การมาถึงของ Telehealth การแพทย์ทางไกล สำหรับ LGBTQIA+
คลีนิคเฉพาะทางและศูนย์การแพทย์แบบพิเศษที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงเริ่มปรากฎให้เห็นมากยิ่งขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่หากกล่าวถึงเทคโนโลยีอย่าง Telehealth สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะนั้น ก็มีบริษัทที่ให้บริการด้านสุขภาพดิจิทัลเกิดขึ้นมาเพื่อจัดการปัญหาสุขภาพสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มขยายพื้นที่การให้บริการเป็นวงกว้าง ตัวอย่าง ที่สหรัฐอเมริกา เช่น
Folx Health ที่รวบรวมการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่การจ่ายยาและบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน(Hormone Replacement Therapy) ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพทางเพศ การดูแลสุขภาวะทางเพศ ไปจนถึงการตรวจแล็บโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่บริการถึงที่บ้าน โดยปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้บริการแต่ละราย
ที่มา: https://www.folxhealth.com/
Queerly Health แพลตฟอร์มด้านสุขภาพดิจิทัลที่เชื่อมโยงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้ากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและความงามที่ปลอดภัยและครอบคลุม Queerly Health มีการใช้ Telehealth เพื่อให้การส่งมอบและรับบริการทางการแพทย์สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและสะดวกสบายสำหรับกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศตลอดเส้นทางสุขภาพของพวกเขา หรือที่เรียกว่าบริการ Concierge Health
Violet ดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตสำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ
ที่มา: https://www.joinviolet.com/
หรือ Plume ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านสุขภาพเจ้าแรกและใหญ่ที่สุดสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งโฟกัสไปยังกลุ่มคนข้ามเพศให้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ โดยใช้หลักการ ‘Gender-affirming care’ หรือการให้บริการด้านสุขภาพที่สนับสนุน เข้าใจ ยอมรับ และตระหนักถึงอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ ด้วยการออกแบบแผนบริการสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับผู้รับบริการแต่ละคน เน้นให้คำปรึกษาและการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มคนข้ามเพศ โดยมีทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษา จ่ายยา และติดตามผล
ที่มา: https://getplume.co/
ในประเทศไทยเอง แม้บริการด้านสุขภาพเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมักจะพบเป็นหนึ่งในกลุ่มสาขาการรักษาสำหรับ LGBT บนบริการสุขภาพดิจิทัลบางราย เราก็ยังเห็นความพยายามในการลดช่องว่างด้านสุขภาพให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจในองค์รวมบนโลกออนไลน์ โดยกลุ่มและสมาคมต่างๆ เช่น สายสบายใจ ของสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่เปิด Line ID เป็นช่องทางการให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง HIV ตั้งแต่ความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ปรึกษาเมื่อตรวจพบเชื้อ การเข้าถึงกระบวนการตรวจเลือด การรับยาต้าน / ยาต้านฉุกเฉิน PEP หรือ กระบวนการรับ PrEP เพื่อป้องกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการรับเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เป็นต้น
หรือ คลินิกแทนเจอรีน ศูนย์ให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ ที่ให้คำแนะนำด้านการใช้ฮอร์โมน ตรวจเช็กความพร้อมสภาพร่างกายก่อนใช้ฮอร์โมน ดูแลสุขภาวะทางเพศ ตรวจ HIV ให้บริการยา PrEP/PEP เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยสำหรับช่องทางบนโลกดิจิทัลนั้น คลินิกแทนเจอรีน ได้เปิด Facebook fanpage โดยจะมีการโพสต์คอนเทนต์สุขภาพเกี่ยวกับคนข้ามเพศ หรือ การเชิญคนข้ามเพศที่มีชื่อเสียงหรือบุคลากรทางการแพทย์มาให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับในเชิงโครงสร้าง เราเริ่มได้เห็นประเด็นเรื่องสุขภาวะของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญและถูกขับเคลื่อนให้เกิด 'แผนยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+* ฉบับแรก (พ.ศ.2564-2566) ของประเทศไทย' โดย สสส. เมื่อตุลาคม 2563 โดยมุ่งหมายให้กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าถึงความเป็นธรรมทางสุขภาพ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ด้วยอัตลักษณ์ทางเพศสภาวะและเพศวิถี โดยปัจจุบัน แผนฯ ดังกล่าวอยู่ในระหว่างกระบวนการร่างและจัดทำขยายผลต่อไป
เหล่านี้ถือเป็นตัวอย่างของเทคโนโลยี Telelhealth ที่เกิดจากความ ‘เข้าใจ’ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดความ ‘สบายใจ’ และ ‘มั่นใจ’ ว่าสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ได้อยู่ในระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรม เข้าถึงการรักษา และไม่ตกเป็นเป้าสายตาใคร Telehealth สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เพียงแค่ช่วยให้ได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ แต่ยังถือเป็นการแก้ปัญหาความเป็นธรรมด้านสุขภาพที่ก้าวข้ามประเด็นอัตลักษณ์ทางเพศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขเพื่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นการแพทย์ทางไกลที่ออกแบบมาได้เข้าใจอย่างแท้จริง
สำคัญที่สุดของการออกแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีใด ๆ ก็ตาม อย่าลืมมองเห็นความหลากหลายของโลกใบนี้ พร้อมกับหลักคิดที่ว่า ไม่ว่าใครก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม และมองให้เป็นเรื่องปกติสามัญที่สุดไม่ว่าอัตลักษณ์ทางเพศของคุณจะเป็นอย่างไรก็ตาม
*ตามร่างยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่มประชากร LGBTIQN+ ในประเทศไทย ปี 2564-2566 ได้ระบุความหมายในแต่ละตัวอักษรไว้ดังนี้
L-Lesbian หรือหญิงรักหญิง
G-Gay หรือชายรักชาย
B-Bisexual หรือผู้ที่รักได้ทั้งชายและหญิง
T-Transgender หรือคนข้ามเพศ
I-Intersex บุคคลที่มีสองเพศหรือมีเพศกำกวม
Q-Queer บุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตัวเองด้วยอัตลักษณ์ทางเพศในทุกรูปแบบ
N-Non-Binary บุคคลที่ปฏิเสธการนิยามตนเองด้วยอัตลักษณ์ที่ตั้งอยู่บนฐานคิดแบบการแบ่งเพศเป็นคู่ตรงข้ามหรือระบบชาย-หญิง
อ้างอิง
Comments