ส่องสวัสดิการเพื่อความหลากหลายของสายเทค ทำงานสนุก สบายใจ แบบไม่มีอะไรมากั้น
[Celebrating Pride Month: Beyond Gender EP.2] ส่องสวัสดิการเพื่อความหลากหลายของสายเทค ทำงานสนุก สบายใจ แบบไม่มีอะไรมากั้น
Summary
แม้ว่าสังคมเริ่มเปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางเพศ แต่ผลสำรวจจาก Deloitte พบว่ายังคงมีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานกับกลุ่ม LGBTQ+ ในที่ทำงาน โดยมีถึง 42% ถูกปฏิบัติแบบแบ่งแยกด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ 33% บอกว่าโดนล้อเลียนเกี่ยวกับรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ, 25% ได้รับความคิดเห็นที่ดูหมิ่น ดูแคลนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งในจำนวนนี้มากถึง 80% ที่เชื่อว่าการเป็น LGBTQ+ ทำให้ถูกปฏิบัติแบบแบ่งแยกมากว่าเพื่อนพนักงานที่ไม่ได้เป็น LGBTQ+
บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งทั่วโลกรวมถึงไทยมีนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมของพนักงาน LGBTQ+ และต่อต้านการเลือกปฏิบัติ อาทิ สิทธิการลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ หรือ ลาแต่งงานสำหรับคู่แต่งงานเพศเดียวกัน เป็นต้น
สวัสดิการเพื่อความแตกต่างหลากหลายนี้เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้เป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ในบรรยากาศการทำงานที่สร้างความปลอดภัย และความสบายใจ เพื่อดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อโลกแห่งความหลากหลายใบนี้
__________________________________________________________________________________
Tech By True Digital ยังอยู่กับออริจินัลซีรีส์ Beyond Gender ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศตลอดเดือนมิถุนายนนี้ โดย EP. 1 เราได้พาไปรู้จัก 4 Innovators สายเทคที่ออกมายืนหยัดความเป็นตัวเองและเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศด้วยความสมัครใจไปแล้ว ใน EP.2 ซึ่งเป็น EP. สุดท้ายของซีรีส์นี้เราจะชวนไปดูสวัสดิการของบริษัทเทคทั่วโลกรวมถึงไทยที่เปิดรับความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งปรากฏออกมาเป็นทั้งวัฒนธรรมองค์กร มาตรการหรือนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมกันของพนักงานทุกเพศ รวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ และนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติซึ่งได้กลายเป็นนโยบายพื้นฐานของบริษัทหลายแห่งเพื่อเคารพความแตกต่างและหลากหลาย
ผลสำรวจ LGBT+ Inclusion @ Work 2022: A Global Outlook จาก Deloitte พบว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ หลายองค์กรได้ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ Diversity, Equity & Inclusion (DE&I) ซึ่งรวมถึงความหลากหลายทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ เข้าไว้ในกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคล และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นแบบเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายต่าง ๆ ในองค์กร รวมถึงการสนับสนุนงาน Pride และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องนอกองค์กรมากมาย เหล่านี้ทำให้ 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 12 ประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย บราซิล ฝรั่งเศส ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งมาจาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี ภาคการเงิน ภาคการบริการ และการแพทย์ เป็นต้น มีความเชื่อว่าจะนำไปสู่การสนับสนุนที่มีความหมายสำหรับคอมมูนิตี้ LGBTQ+ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่ม LGBTQ+ ยังคงประสบกับพฤติกรรมการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในที่ทำงาน โดยมีถึง 42% ถูกปฏิบัติแบบแบ่งแยกด้วยวิธีการที่หลากหลาย อาทิ 33% ที่บอกว่าโดนล้อเลียนเกี่ยวกับรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศ, 25% ประสบกับความคิดเห็นที่ดูหมิ่น ดูแคลนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งในจำนวนนี้มากถึง 80% ที่เชื่อว่าการเป็น LGBTQ+ ทำให้ถูกปฏิบัติแบบแบ่งแยกมากกว่าเพื่อนพนักงานที่ไม่ได้เป็น LGBTQ+
ผลสำรวจ LGBT+ Inclusion @ Work 2022: A Global Outlook จาก Deloitte
ที่มา: https://www.deloitte.com/
เพื่อทำให้ที่ทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจของทุกคน บริษัทหลายแห่งเริ่มมีมาตรการเพื่อส่งเสริมบรรยากาศของการทำงาน อาทิ ห้องน้ำแบบไม่แบ่งแยกเพศ (Gender-neutral Toilet) หรือชุดยูนิฟอร์มที่ไม่แบ่งเพศ (Gender-neutral Uniform) ให้พนักงานสามารถแต่งกายได้ตามเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนในที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม มีองค์กรหลายแห่งที่มีสวัสดิการที่เป็นรูปธรรมเพื่อกลุ่ม LGBTQ+มากขึ้น และถูกบรรจุอยู่ในสวัสดิการพนักงานเพื่อโอบรับความแตกต่าง ให้ไม่เป็นเพียงวัฒนธรรมองค์กร แต่คือสิทธิและความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นจริง ที่ไม่ว่าอัตลักษณ์ทางเพศจะเป็นไปในรูปแบบใดก็สามารถทำงานได้อย่างสบายใจ และไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นความเป็นตัวตน
และนี่คือตัวอย่างสวัสดิการเพื่อความหลากหลายของกลุ่ม LGBTQ+ จากบริษัทเทคทั่วโลกและของไทย
Apple
การเปิดกว้างและโอบรับความแตกต่างหลากหลายของพนักงานใน Apple มีมาตั้งแต่ปี 1986 ที่ Apple มีการก่อตั้งคอมมูนิตี้ที่เรียกว่า Diversity Network Association (DNA) เพื่อส่งเสริมการเคารพในทุกความแตกต่างของพนักงาน รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมในแบบที่ทุกคนเป็นเจ้าของหรือ I Belong@Apple เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน และรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของ Apple เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุน เชื่อมต่อกันและกัน และไม่ว่าจะมี DNA แบบไหน จะเป็นเพศหรือเชื้อชาติใดก็จะได้รับการผลักดันด้านอาชีพการทำงานที่นี่
I Belong@Apple
ที่มา: https://www.apple.com/
รวมถึงสวัสดิการที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนและผลักดันพนักงานทุกเพศให้เติบโตได้ในแบบของตัวเอง อาทิ
วันลาคลอดสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่สามารถลาหยุดแบบได้รับเงินค่าจ้าง หรือหากใครที่ต้องการเวลาในการดูแลคนในครอบครัวก็สามารถใช้สิทธิได้เช่นกัน
บริการให้คำแนะนำในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัว
ทุกเพศได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมและคล้ายคลึงกันเมื่ออยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
นอกจากนี้ CEO ของ Apple อย่าง Tim Cook ก็ยังได้รับเสียงชื่นชมในการเป็นตัวอย่างของผู้ที่ไม่นำอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นตัวขวางกั้นความสามารถ จากการออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองอย่างภาคภูมิใจ ซึ่ง Tech By True Digital ได้เล่าไว้ในซีรีส์ [Celebrating Pride Month: Beyond Gender EP.1] รู้จัก 4 Innovators สายเทคที่ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ
Google ให้ความสำคัญกับ DE&I – Diversity, Equity and Inclusion หรือก็คือ ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม ที่เป็นวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมองค์กรมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 1998 และในปี 2005 ก็มีการตั้งตำแหน่ง Head of Diversity เพื่อดูแลเรื่องความหลากหลายในองค์กรโดยเฉพาะ ซึ่งการส่งเสริมความหลากหลายนี้ไม่เป็นเพียงนโยบายแต่เป็นการลงมือทำจริง ตั้งแต่เรื่องที่เล็กที่สุด เช่น การเลือกใช้คำว่า Chairperson แทนคำว่า Chairman เพื่อแสดงถึงความหลากหลายทางเพศ การเลือกใช้คำสรรพนาม (Pronoun) ตามที่แต่ละคนต้องการ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย และการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ผ่านการสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่าง ๆ
Google เปิดตัวแอนิเมชั่นพิเศษสำหรับ LGBTQ+ Pride Month 2023
ที่มา: https://g.co/kgs/rkY9E6
ไปจนถึงการสร้างบรรยากาศให้เอื้อกับการทำงานที่รวมถึงสวัสดิการที่เท่าเทียมกันโดยไม่จำกัดเพศ อาทิ
ประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงคู่รักแบบไม่มีการจำกัดเพศ
สวัสดิการสำหรับการผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ ที่ดูแลตั้งแต่การให้คำปรึกษาก่อนเข้ารับการผ่าตัด ไปจนถึงขั้นตอนเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงมีงบประมาณผ่าตัดให้พนักงานตามแต่ละเคสที่แตกต่างไปแต่ละประเทศ
สวัสดิการลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ ครอบคลุมทั้งพนักงานหญิงและชาย รวมถึงการรับอุปถัมภ์เด็ก ก็สามารถลางานได้เพื่อเตรียมพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว เป็นต้น
การโอบรับความหลากหลายของ Google ปรากฏใน Google Diversity Report ที่มีการรายงานตัวเลขการจ้างงานของ Google ทั่วโลกว่ามีผู้นำเพศหญิงเพิ่มจาก 20.8% เป็น 26.7% มีพนักงานจากหลากหลายเชื้อชาติ และสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ มีพนักงานทั่วโลกที่ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลถึง 7.1% และเคารพในพนักงานที่ไม่เปิดเผยอีกด้วย โดยความมุ่งมั่นของ Google ก็คือ ความตั้งใจในการทำให้ที่ทำงานเป็น ‘บ้าน’ ที่พนักงานรู้สึกปลอดภัย ทำงานกันอย่างมีความสุขและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานนั่นเอง
IBM
IBM ทำงานเรื่องความหลากหลายและเท่าเทียมในที่ทำงานมาอย่างยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 1953 ที่มีประกาศจากประธานบริษัทเกี่ยวกับการให้โอกาสอย่างเท่าเทียมเสมอภาคแก่คนทุกกลุ่ม โดยในปี 1994 ได้เริ่มต้นบัญญัติสวัสดิการแก่พนักงานที่มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันที่ IBM แคนาดา ก่อนจะขยายสวัสดิการนี้ไปยังประเทศต่าง ๆ ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ IBM ยังมีโปรเจกต์ภายในที่เปิดพื้นที่ให้พนักงานเปิดเผยตัวตนตามความสมัครใจและแชร์เรื่องราวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้พนักงานคนอื่น
IBMer กับการแชร์เรื่องราว Diversity and Inclusion
ที่มา: https://twitter.com/IBM
นอกจากนี้ IBM ยังร่วมมือกับพันธมิตรภายนอกหลายกลุ่มเพื่อทำงานเกี่ยวกับ LGBTQ+ อาทิ Out and Equal และ Human Rights Campaign เพื่อเสนอการฝึกอบรมและการสนับสนุนเกี่ยวกับความหลากหลายในที่ทำงาน สำหรับสวัสดิการสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ของ IBM อาทิ
สวัสดิการพนักงานที่มีคู่ชีวิตเพศเดียวกัน ใน 50 ประเทศทั่วโลก
สวัสดิการด้านสุขภาพโดยใช้หลักการ ‘Gender-affirming care’ หรือการให้บริการด้านสุขภาพที่สนับสนุน เข้าใจ ยอมรับ และตระหนักถึงอัตลักษณ์และการแสดงออกทางเพศ เช่น การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ เป็นต้น ซึ่งครอบคลุม 11 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
คอมมูนิตี้สำหรับพนักงานที่ต้องการผ่าตัดศัลยกรรมแปลงเพศ โดยดูแล สนับสนุน เทรนนิ่ง ให้คำแนะนำทั้งด้านร่างกายและสุขภาพใจที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มต้นไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการทางการแพทย์ และครอบคลุมการกลับมาใช้ชีวิตในที่ทำงานในแบบที่พนักงานสะดวกและสบายใจ
ระบบ Self-ID ที่เสนอตัวเลือกให้พนักงานระบุตนเองว่าเป็น LGBT+ ในระบบทรัพยากรบุคคล
Microsoft
พนักงาน Microsoft กับแคมเปญ Pride2023 สื่อสารความหมายของ Pride ในแบบของตัวเอง
ที่มา: https://blogs.microsoft.com/
Microsoft ถือเป็นบริษัทที่เปิดกว้างเพื่อความหลากหลายสำหรับคนทุกเพศ วัย ความสนใจและภูมิหลัง โดยสำหรับเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศนั้น Microsoft ได้บรรจุเรื่องเพศวิถีเข้าไปในนโยบายเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติของบริษัทมาตั้งแต่ปี 1989 และเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีสวัสดิการสำหรับพนักงานที่มีคู่รักเป็นเพศเดียวกัน สวัสดิการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
สวัสดิการงบประมาณเพื่อช่วยเหลือพนักงานที่ต้องการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม
สวัสดิการวันลาสำหรับพ่อแม่มือใหม่ ที่ให้ลาหยุดแบบได้รับเงินค่าจ้าง
คลาสสอนเรื่องการดูแลคนในครอบครัว
นอกจากนี้ Microsoft ยังจัดตั้งคอมมูนิตี้ GLEAM (Global LGBTQIA+ Employees and Allies at Microsoft) เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ สร้างเครือข่าย และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับพนักงาน LGBTQ+ ทั้งในองค์กรและยังขยายเครือข่ายไปนอกองค์กร โดยยังบริจาคเงินทุนให้กับองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมออีกด้วย
True Digital Group
สำหรับทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ภายใต้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งมีจุดยืนขององค์กรในการไม่ทนต่อการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ก็มีนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมและความเท่าเทียมสำหรับพนักงานทุกเพศรวมถึงกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมของบริษัทในกลุ่ม ทรู อาทิ
สิทธิการลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศสูงสุด 30 วัน
สิทธิการลาแต่งงานสูงสุด 6 วันทำงาน
สิทธิการลาดูแลบุตรแรกเกิด รวมถึงเพื่ออุปการะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
กลุ่มทรูเชื่อว่า นโยบายสวัสดิการเท่าเทียมที่ช่วยขับเคลื่อนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม (Diversity, Equity & Inslusion) นั้นจะทำให้พนักงานกล้าที่จะเป็นตัวเอง จนสามารถ #BringYourBest แสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้กับสังคมและโลกใบนี้ได้ในที่สุด
จากบริษัทที่ยกตัวอย่างเหล่านี้ นอกจากสวัสดิการสำหรับพนักงานแล้ว ยังมีการสนับสนุนและส่งเสริมกลุ่ม LGBTQ+ และความเท่าเทียมของคนทุกเพศในอีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือกระทั่งการเข้าไปช่วยส่งเสริมคอมมูนิตี้ต่าง ๆ และยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่มีนโยบายเปิดกว้าง สนับสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ เชื้อชาติ หรือความคิดเห็น ด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อพนักงานได้เป็นตัวเอง ได้รับการยอมรับ ไม่ต้องอยู่กับความกังวลกับตัวตนที่แท้จริงของตัวเองและความหลากหลายของเพื่อนร่วมงาน ก็จะก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่สร้างความปลอดภัย และความสบายใจ เมื่อไม่ต้องกังวลอะไร ก็จะสามารถดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ สร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมเพื่อโลกที่ไม่ได้มีแค่แบบเดียว แต่ยังมีความหลากหลายอีกมากมายที่ต้องการความเข้าใจ ยอมรับและถูกปฏิบัติต่อกันแบบเคารพซึ่งกันและกัน
อ่านบทความ [Celebrating Pride Month: Beyond Gender EP.1] รู้จัก 4 Innovators สายเทคที่ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ ได้ที่นี่
ที่มา:
Kommentare