รู้จัก Web 3.0 Ep.2: ความจริงอีกด้านหนึ่ง
ในตอนที่แล้ว Tech By True Digital พาไปทำความรู้จักทุกเรื่องของ Web 3.0 ตั้งแต่วิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตในแต่ละยุคที่ผ่านมา ไปจนถึงความหวัง ความฝันและความจริงของแนวคิด Web 3.0 ที่ถูกขนานนามว่าจะเป็นยุคใหม่แห่งโลกของการเชื่อมต่อ ในตอนที่ 2 นี้ เราจะพาไปดูความจริงอีกด้านของ Web 3.0 ถึงความเป็นไปได้ในการใช้งานได้จริงและสิ่งที่ยังต้องตั้งคำถามให้กับวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตยุคใหม่นี้
ความจริงอีกด้านหนึ่ง
ท่ามกลางความหวังจากแนวคิด Web 3.0 ที่จะกลายเป็นโลกยุคใหม่แห่งการเชื่อมต่อให้ผู้ใช้งานได้เป็นเจ้าของข้อมูลอย่างแท้จริง ได้รับการประมวลผลให้เป็นไปตามการใช้งานอย่างแม่นยำ และยังสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ไม่ต้องห่วงการถูกแบนด้วยระบบอัลกอริธึมที่ไม่ ‘เข้าใจ’ การใช้งานนั้น ยังคงมีหลายคำถามและความท้าทายเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเทคโนโลยีและการใช้งานที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
เพราะแนวคิดของ Web 3.0 โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไร้ตัวกลางนั้น ทำให้เกิดคำถามหลายประการตามมา เช่น ผู้ใช้งานจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างไร แบบไหนจึงจะเรียกว่าเป็นการเข้าถึงเว็บไซต์แบบไร้ตัวกลางที่แท้จริง ในเมื่อปัจจุบันเรายังพึ่งพาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในการเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตอยู่ โดยในด้านเทคนิค ปัจจุบัน Web 3.0 ยังมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพและความสามารถในการสเกลระบบ (Scalability) ที่ทำให้การดำเนินธุรกรรมบน Web 3.0 ทำได้ช้ากว่าบนเว็บแบบรวมศูนย์หรือ Centralized เพราะการประมวลผลในการทำธุรกรรมใดนั้นต้องรอการดำเนินการของผู้มีสิทธิหรือ Validator หรือ โหนด (Node) จากเครือข่ายทั่วทั้งโลกด้วย
แนวคิดอินเทอร์เน็ตแบบไร้ตัวกลางของ Web 3.0 ที่ไม่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มกลาง
ที่มา: https://www.npr.org/
นอกจากนี้ แม้การมอบอำนาจผู้ใช้งานในการควบคุมเนื้อหาและข้อมูลได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม จะเพิ่มสิทธิและเสรีภาพมากให้กับผู้ใช้งานบนโลกดิจิทัล ก็ยังคงมีคำถามตามมาถึงเรื่องการควบคุมลักษณะและมาตรฐานเนื้อหาที่ถูกผลิตออกมา ว่าในขอบเขตของสิทธิและเสรีภาพนั้น ตรงไหนจึงจะเป็นมาตรฐานที่เหมาะสมในยุค Web 3.0 ที่จะไม่เป็นภัยหรือเบียดเบียนสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้งานอื่น ๆ เช่นกัน
ในขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก็ดูจะเป็นประเด็นที่ Web 3.0 ยังต้องพิสูจน์เดิมพัน เหตุเพราะ Web 3.0 นั้นถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาบนพื้นฐานของ Blockchain ซึ่งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้พลังงานมหาศาลในการทำธุรกรรมในระบบ เพราะ Blockchian ที่เป็นระบบการเก็บข้อมูลแบบไร้ตัวกลางนั้นใช้การทำงานแบบ ‘Consensus Algorithm’ หรือพึ่งพาการตรวจสอบและฉันทามติจากผู้คนในเครือข่ายของบล็อกเชนหรือที่เรียกว่า Proof of Work ที่เป็นการให้คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายช่วยกันแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์ เพื่อยืนยันความถูกต้องในการทำธุรกรรม หากใครแก้สมการได้ก่อน ก็จะมีสิทธิ์ในการบันทึกธุรกรรมข้อมูลลงไปในเครือข่าย และจะมีคนอื่น ๆ ในเครือข่ายมาช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องให้อีกทอดหนึ่ง
ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวิธีที่ให้ความปลอดภัยสูงมาก แต่ก็ใช้กำลังไฟในระบบมหาศาลเช่นกัน เพราะเพียงการทำธุรกรรมเพียง 1 ธุรกรรม ก็ต้องใช้คนในเครือข่ายในการยืนยันความถูกต้อง ซึ่งนั่นหมายถึงการใช้กำลังไฟในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต้องมีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเครือข่ายทั้งระบบ การใช้พลังงานจำนวนมหาศาลนี่เองจึงมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ที่มาของวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก โดย Blockchain ที่ใช้ระบบ Proof of Work อาทิ Bitcoin, Ethereum และ Litecoin เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันก็เริ่มมี Blockchain ที่ใช้การทำงาน Consensus Algorithm ในรูปแบบใหม่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า นั่นคือการทำงานแบบ Proof of Stake ที่ระบบจะสุ่มผู้มีสิทธิตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมที่เกิดขึ้น เพื่อเข้ามาทำการตรวจสอบธุรกรรมและบันทึกความถูกต้องของธุรกรรมข้อมูลลงไปในเครือข่าย ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดจากเครือข่าย ทำให้การใช้พลังงานในการพิสูจน์ความถูกต้องของการทำธุรกรรมใดธุรกรรมหนึ่งในระบบลดน้อยลง และรวดร็วขึ้น โดย Blockchain ที่ใช้ระบบ Proof of Stake ได้แก่ Cardano (ADA), Polkadot (DOT), และ Stella (XLM) เป็นต้น โดยล่าสุด Ethereum ก็เริ่มทดลองใช้ระบบ Proof of Stake นี้แล้ว
การทำงานของ Web 3.0 จึงยังเป็นที่จับตามองว่าจะใช้การทำงานระบบใดและจะก้าวข้ามแง่มุมของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่
การใช้พลังงานในระดับสูงของระบบ Proof of Work เมื่อเปรียบเทียบกับระบบ Proof of Stake ของ Ethereum ที่จะช่วยลดการใช้พลังงานลงถึง 99.95%
แม้ว่า Web 3.0 จะยังดูเหมือนเป็นความจริงที่ยังมาไม่ถึง แต่ก็มีหลายองค์กรที่พัฒนานวัตกรรมและแอปพลิเคชันบนพื้นฐานแนวคิด Web 3.0 อาทิ
Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลดั้งเดิมที่กำเนิดขึ้นมานานกว่าสิบปีแล้ว และมี Protocol แบบกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง แม้ว่าจะยังไม่ใช่การกระจายศูนย์ทั้งระบบนิเวศก็ตาม
OpenSea ตลาดซื้อขาย NFT ที่สร้างขึ้นบน Ethereum Blockchain ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ไร้ศูนย์กลาง อาศัยคอมพิวเตอร์ทั่วโลกช่วยกันประมวลผลและตรวจสอบความถูกต้อง มีระบบ Proof of Work ที่แข่งกันประมวลผล และมีการจ่ายค่าประมวลผลในระบบด้วยเหรียญ Ether
Everledger บริการ Supply Chain ขึ้นทะเบียนแหล่งที่มาเพชร เกรดเพชรและออกเอกสารการรับรองข้อมูลสำคัญของเพชรผ่านเทคโนโลยี Blockchain เป็นต้น
เพราะการใช้ชีวิตของเราแทบทุกมิติเกี่ยวพันกับโลกแห่งการเชื่อมต่อ ความหวังและความจริงของ Web 3.0 แม้จะยัง Work-in-Progress ที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่และมีตัวตนแบบไหน หากสามารถตอบคำถามให้กับข้อจำกัดที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้ และถึงเวลาที่ผู้คนต่างยอมรับในเทคโนโลยี เวลานั้นไม่ว่าจะช้าหรือเร็วเราคงได้สัมผัสกับ Web 3.0 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ่านบทความ EP.1 รู้จัก Web 3.0 : ความฝัน หรือความจริง-in-Progress ได้ที่ https://bit.ly/3CqlaQe
หรือผ่านทางช่องทางอื่นของ True Digital Group
#Web3.0
อ้างอิง:
Comments