EP. 01ในโลกคู่ขนาน: หากไม่มีโควิด-19 ญี่ปุ่นเตรียมสร้างตำนาน ในโตเกียวในโตเกียวโอลิมปิก 2020 อย่างไร
Updated: Jul 27, 2021
EP. 01 Tokyo Olympics 2020 - ในโลกคู่ขนาน: หากไม่มีโควิด-19 ญี่ปุ่นเตรียมสร้างตำนาน “The Smartest Olympics Ever”ในโตเกียวโอลิมปิก 2020 อย่างไรบ้าง
หลังเผชิญการถูกเลื่อนเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ในที่สุดโตเกียวโอลิมปิก 2020 ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ท่ามกลางมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด เราจึงเห็นการจำกัดผู้เข้าร่วมพิธีเปิดหรือการแข่งขันที่ไร้คนดูในสนาม แต่อย่างไรก็ดีเราลองมาย้อนดูกันว่า ในโลกคู่ขนานที่หากไม่มีการระบาดของโควิด-19 และการจัดงานสามารถดำเนินไปได้อย่างที่เจ้าภาพได้วางแผนไว้ เจ้าแห่งนวัตกรรมอย่างญี่ปุ่นเตรียมที่จะสร้างตำนานบทใหม่ให้กับวงการโอลิมปิกในโตเกียวโอลิมปิก 2020 อย่างไรบ้าง
แน่นอนว่าด้วยจิตวิญญาณของความเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี จึงทำให้โตเกียวโอลิมปิก 2020 พร้อมไปด้วยการนำเสนอเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ไม่เพียงแค่อำนวยสะดวกให้กับนักกีฬาและผู้เข้าชม แต่ยังสร้างความมั่นใจถึงผู้เกี่ยวข้องว่าจะปลอดภัยภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังดำเนินต่อเนื่องอีกด้วย โตเกียวโอลิมปิก 2020 จึงเรียกได้ว่าเป็นการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่ชาญฉลาดที่สุด หรือ The Smartest Olympics Ever
ที่มา: www.olympic.org
ย้อนดูตำนานบทเก่า
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นสร้างเสียงฮือฮาและนับก้าวแรกให้กับหลายนวัตกรรมเทคโนโลยีในงานโอลิมปิก โดยเมื่อย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นจัดงานโอลิมปิกที่โตเกียวเมื่อปี 1964 พบว่า งานโอลิมปิกครั้งดังกล่าวได้กลายเป็น ‘อีเว้นต์’ ที่กำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลกมาแล้ว โดยได้เผยนวัตกรรม “ครั้งแรกของโลก” หลายตัว ภายในงาน เช่น
นาฬิกาจับเวลาอัจฉริยะ: โดยบริษัท Seiko บริษัทผู้ผลิตนาฬิกาของญี่ปุ่น ได้พัฒนานาฬิกาจับเวลาซึ่งมีระบบจัดเก็บสถิติเวลาด้วยคอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งในภายหลังได้ถูกพัฒนาต่อมา จนกลายเป็นต้นแบบของนาฬิการะบบควอตซ์ที่เรารู้จักในปัจจุบัน
รถไฟความเร็วสูง (ชินคังเซ็น): รถไฟความเร็วสูงหรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า “Bullet Train” ได้เปิดตัวใช้งานเป็นครั้งแรกในงานโอลิมปิก 1964 และได้รองรับนักกีฬาและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จนเป็นที่ฮือฮาและกลายเป็นต้นแบบให้หลายประเทศพัฒนารถไฟความเร็วสูงในเวลาต่อมา
มิติใหม่ของประสบการณ์โตเกียวโอลิมปิก 2020
เพราะการเข้าชมโอลิมปิกมีมากกว่าการเข้าชมและให้กำลังใจนักกีฬา การอำนวยความสะดวก การรักษาความปลอดภัยของทั้งผู้เข้าชม เจ้าหน้าที่และนักกีฬา รวมไปถึงการสร้างเสริมประสบการณ์การรับชมจึงกลายเป็นมิติใหม่ที่ญี่ปุ่นนำนวัตกรรมที่มีมาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ “โอลิมปิกอัจฉริยะ” ครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับทุกฝ่ายอย่างดีที่สุด ด้วยนวัตกรรมต่างๆ เช่น
สนามป้องกันแผ่นดินไหว: การเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ทำให้ญี่ปุ่นได้คิดค้นมาตรการรองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และกลายเป็นมาตรฐานในการสร้างอาคารในประเทศ โดยในโอลิมปิกครั้งนี้ สิ่งก่อสร้างใหม่ เช่น สนามกีฬาแห่งชาติใหม่ ที่จะใช้ในพิธีเปิดและปิดโอลิมปิกเกมส์ สนามโตเกียว อควอติก เซ็นเตอร์ (สนามแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ) และอาเรียเกะ อารีนา (สนามแข่งขันกีฬาวอลเลย์บอล) ก็ได้มีการนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้เป็นพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมงาน โดยยังเสริมนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นใหม่ โดยบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์อย่างบริดจ์สโตน ที่ได้ออกแบบตลับลูกปืนแบบพิเศษ ติดตั้งอยู่ใต้หลังคา เพื่อให้สนามทนต่อแรงสั่นสะเทือนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
หุ่นยนต์อำนวยความสะดวก: หุ่นยนต์อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การใช้งานหุ่นยนต์ในสถานการณ์จริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์จะเป็นอย่างไร ญี่ปุ่นกำลังจะทำเป็นตัวอย่างในโอลิมปิกครั้งนี้ ตั้งแต่
หุ่นยนต์ต้อนรับ: เช่น Miraitowa หนึ่งในมาสคอตโอลิมปิกครั้งนี้ ที่สามารถขยับตัวและตาแสดงอารมณ์เพื่อใช้ต้อนรับนักกีฬา และเจ้าหน้าที่จากทั่วโลก หรือหุ่นยนต์ที่สามารถเสิร์ฟอาหาร และนำทางผู้พิการไปยังที่นั่งเพื่อชมการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงการแจ้งเตือนภัยในกรณีฉุกเฉิน โดยนอกจากจะพบเห็นได้ในบริเวณสถานที่แข่งขันแล้ว ยังสามารถพบได้ตามจุดขนส่งมวลชน เช่น อาริสะ (Arisa) หุ่นยนต์ซึ่งประจำการอยู่ที่สถานีรถไฟ อุเอโนะ-โอกาชิมาจิ ที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลีและจีน สามารถให้ข้อมูลการเดินทาง ห้องน้ำ และสถานที่ต่างๆ แก่ผู้ที่ต้องการเดินทางมาชมการแข่งขันอีกด้วย
หุ่นยนต์ภาคสนาม: ตั้งแต่หุ่นยนต์ที่มีกล้องแบบ 360 องศาที่สามารถใช้สื่อสารภาษาต่างๆ แทนเจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่น หรือช่วยเคลื่อนย้ายสิ่งของข้างสนาม และช่วยเก็บอุปกรณ์ในการแข่งขันกีฬาบางประเภทให้กลับมายังจุดเริ่มต้น
---หุ่นยนต์ต้อนรับ Miraitowa---
ยานยนต์ไร้คนขับเหนือมาตรฐานโลก:
สมาคมวิศวกรรมยานยนต์นานาชาติ (Society of Automotive Engineers หรือ SAE) ได้จัดระดับความสามารถของยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) ไว้ 6 ระดับด้วยกัน โดยในระดับ 0 - 2 ที่พบได้ในระบบอัตโนมัติของ Tesla และระบบ Cadillac Cruise ของ GM นั้น ยังเป็นระบบที่ต้องมีมนุษย์ควบคุมอยู่ภายในรถยนต์ แต่ในโตเกียวโอลิมปิก2020 นี้ ญี่ปุ่นจะเป็นชาติแรกที่นำมาตรฐาน "ยานยนต์ไร้คนขับระดับ 3" หรือ Conditional Automation ที่ไม่ต้องใช้มนุษย์ในการควบคุม ยกเว้นสถานการณ์ฉุกเฉิน และ "ยานยนต์ไร้คนขับระดับ 4" (High Automation) ที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินบนเส้นทางที่กำหนดได้ เข้ามาใช้งานจริงเป็นครั้งแรกของโลก เช่น
- ระดับ 3: รถบัสบริการรับส่งผู้โดยสารภายในสนามบินของสายการบิน All Nippon Airways (ANA)
- ระดับ 4:
> รถบริการระหว่างสนามบินกับสนามแข่งขันกีฬา จากบริษัท Hinomaru Kotsu
> รถบริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างสนามแข่งขันกีฬา และรถ e-Palette รับส่งนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา จากโตโยต้า โดย e-Palette ยังสามารถปรับให้เป็นร้านค้าเคลื่อนที่แบบอัตโนมัติได้อีกด้วย
---รถ e-Palette---
3D Athlete Tracking Technology (3DAT) สำหรับการแข่งขันประเภทกรีฑาจะมีการนำเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Intel และ Alibaba ที่ประมวลผลการเคลื่อนไหวของนักกีฬา ไฮไลท์ระดับความเร็วของนักวิ่ง หรือแม้กระทั่งวิเคราะห์ท่าวิ่งที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บโดยไม่ต้องติดเซ็นเซอร์ตามตัวนักกีฬา แต่เป็นการใช้กล้องวิดีโอที่มีระบบ AI แสดงผลเป็นภาพซ้อนทับกับการแพร่ภาพสดแบบเรียลไทม์ให้ทั้งโค้ชและผู้ชมได้เห็นตลอดระยะเวลาการแข่งขัน
---3D Athlete Tracking Technology---
8K - 5G - VR กับการชมกีฬาแบบเหมือนอยู่ในสนามจริง: นอกจากการถ่ายทอดสดโตเกียวโอลิมปิก 2020 ตลอด 17 วันผ่านทางช่อง NHK จะถูกแพร่ภาพด้วยความละเอียดระดับ 8K แล้ว โอลิมปิกครั้งนี้ยังยกระดับประสบการณ์รับชมที่ท้าทายประสิทธิภาพเทคโนโลยีระดับ 5G ด้วยการเพิ่มความสามารถรับชมผ่านระบบ Virtual Reality หรือ VR ให้กับผู้ชมทางบ้านที่มีชุดอุปกรณ์ ให้สามารถใช้รับชมทั้งพิธีเปิด ปิด การแข่งขันกรีฑา ยิมนาสติก มวย และวอลเล่ย์บอลชายหาด แบบเรียกได้ว่าราวกับหลุดเข้าไปยังขอบสนามจริง นอกจากนี้เพื่อรองรับการแพร่ภาพระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ยังใช้ระบบการเผยแพร่สัญญาณผ่านคลาวด์ (Cloud Broadcasting) โดยเป็นผลงานความร่วมมือของ Alibaba Cloud ร่วมกับหน่วยบริการกระจายเสียงแพร่ภาพโอลิมปิก (OBS) เพื่อให้ผู้ชมนานาชาติมั่นใจถึงคุณภาพการรับชมแบบไม่มีสะดุดอีกด้วย
Facial Recognition System ระบบการประมวลผลใบหน้าด้วยความเร็ว 0.3 วินาทีที่ NEC ร่วมพัฒนากับ Intel โดยจะถูกนำไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยบริเวณสนามแข่งขันกีฬา
แอปพลิเคชัน COCOA แอปพลิเคชั่น contact tracing ของรัฐบาลญี่ปุ่น ที่บันทึกการเดินทาง แผนการเดินทาง แผนการพบเจอผู้คนตลอดจนข้อมูลประจำตัวของนักกีฬาและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน รวมถึงการแจ้งเตือนกรณีบุคคลผู้นั้นได้มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
แน่นอนว่า การจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 ในครั้งนี้ ไม่เพียงแค่เป็นการนำเทคโนโลยีที่ใหม่ล่าสุดและการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก เสริมสร้างความปลอดภัย และเพิ่มรสชาติประสบการณ์การรับชมเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมระหว่างการจัดงานอีกด้วย เรียกได้ว่ากีฬาก็ต้องจัด โลกก็ต้องรัก(ษ์)กันเลยทีเดียว แต่ความรักษ์โลกในแบบฉบับชาวญี่ปุ่นที่สอดแทรกเข้าไปในเกือบทุกรายละเอียดของการจัดการแข่งขันนั้นมีอะไรบ้าง ดูต่อได้ใน https://bit.ly/3BDdvg2
#โตเกียวโอลิมปิก
#โอลิมปิก2020
#โอลิมปิก
อ้างอิง:
Comments