top of page

รู้จัก 4 Innovators สายเทคที่ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ

Updated: Jun 8, 2023

[Celebrating Pride Month: Beyond Gender EP.1] รู้จัก 4 Innovators สายเทคที่ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ


Tech By True Digital ร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งตรงกับเดือนมิถุนายนของทุกปี ด้วยออริจินัลซีรีส์ Beyond Gender ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ ตาม Theme หลักของงาน Bangkok Pride Parade 2023 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Beyond Gender’ เพื่อสนับสนุน Gender Recognition หรือการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศและผลักดันข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ในซีรีส์ Beyond Gender นี้มีจำนวน 2 ตอนตลอดเดือนมิถุนายน โดยตอนแรกเราจะพาไปรู้จัก Innovators ในแวดวงเทคระดับโลกที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนและสังคมโดยก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ และยังเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้เป็นตัวเองในแบบที่ไม่มีสิ่งใดมาเป็นกำแพงขวางกั้นความรู้ ความสามารถ และตอนที่สองจะพาไปดูว่า สวัสดิการของบริษัทเทคทั่วโลกรวมถึงไทยที่เปิดรับความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าเป็นเพศใด ก็ทำงานได้อย่างสนุก สบายใจ แบบไม่มีอะไรมากั้นนั้นมีอะไรบ้าง


ในตอนแรกนี้เราพาไปรู้จัก 4 Innovators สายเทคที่ออกมายืนหยัดความเป็นตัวเองและเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศด้วยความสมัครใจเพื่อให้สังคมก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศ


Vivienne Ming

คุณแม่สตรีข้ามเพศ นักประสาทวิทยา และผู้เชี่ยวชาญ AI



Tech By True Digital เคยเล่าถึง Vivienne Ming ในบทบาทแม่ผู้สร้าง “พลังธรรมดา” แสนพิเศษ ไปในบทความวันแม่แล้ว ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นคุณแม่ผู้ไม่ย่อท้อต่อข้อจำกัดของลูกด้วยการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอาการเจ็บป่วยของลูกแล้ว เธอยังเป็นสตรีข้ามเพศที่เปิดเผยตัวตนมาตั้งแต่ปี 2005 เคยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 Women ของ BBC ที่ถ่ายทอดบทบาทของหญิงแกร่งแห่งศตวรรษที่ 21 และ The OUTstanding lists: LGBT leaders and allies today โดย Financial Times ในปี 2017


Vivienne Ming เป็นนักประสาทวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ AI เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารของ Socos Labs ใน Berkeley รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นิยามตัวตนว่าเป็น “A Mad Science Incubator” ที่มุ่งเน้นการใช้ Machine Learning ประสาทวิทยา รวมไปถึงเศรษฐศาสตร์ มาประยุกต์ร่วมกันเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของศักยภาพมนุย์ในอนาคต


งานของเธอเกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วย AI อาทิ เครื่องปั๊มอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ เครื่องนี้ทำหน้าที่ปล่อยอินซูลินเข้าสู่ร่างกายเลียนแบบการทำงานของตับอ่อน โดยมี AI ที่เรียนรู้การจับคู่ระดับอินซูลินในร่างกายของผู้ใช้งานกับอารมณ์และกิจกรรมว่าเมื่อไหร่ที่ต้องปล่อยอินซูลินเพื่อรักษาระดับอินซูลินในร่างกายให้คงที่ เธอยังเป็นผู้พัฒนา “SuperGlass” ร่วมกับ Google โปรเจกต์พิเศษให้ CIA ที่ต้องการอุปกรณ์ AI เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าแบบเรียลไทม์สำหรับการตรวจจับการโกหก ซึ่งภายหลังได้ต่อยอดมาเป็นแว่นตาพิเศษของผู้มีอาการออทิสติก ที่ช่วยประมวลผลให้ผู้สวมใส่รับรู้ว่าคนที่อยู่ต่อหน้ากำลังมีความรู้สึกอย่างไร ช่วยให้ผู้มีอาการออทิสติกเข้าใจผู้คนที่เขากำลังมีปฏิสัมพันธ์ได้ และเธอยังได้พัฒนา Muse เครื่องมือที่ใช้ Machine Learning เพื่อแนะนำกิจกรรมที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ แรงจูงใจ และความฉลาดทางอารมณ์ให้กับเด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองใช้เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับลูกเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ เป็นต้น


ปัจจุบัน Vivienne Ming ยังใช้ชีวิตคู่อยู่กับภรรยาของเธอที่มีลูกด้วยกันก่อนการเปลี่ยนเป็นสตรีข้ามเพศ โดยภรรยาก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Socos Labs อีกด้วย เธอนำประสบการณ์ของการมีอัตลักษณ์ทางเพศในแบบของเธอเป็นสารตั้งต้นการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของคนซึ่งเธอมองว่าเป็น ทรัพย์สินที่ดีที่สุดออกมาให้ได้มากที่สุด Vivienne Ming คือตัวอย่างของการไม่นำอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นตัวขวางกั้นในการตระหนักถึงศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของผู้คนให้สูงสุด


ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์คอลัมน์ VentureOut จาก Advocate

“Whoever you are, as a gay man or a lesbian or a trans woman, embrace it. Turn it into an asset."

Audrey Tang

รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน สตรีข้ามเพศ และนักปฏิวัติดิจิทัล



Audrey Tang เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์และ Civil Hacker อัจฉริยะ ที่เข้าสู่แวดวงเทคตั้งแต่อายุ 12 ปี จากการเขียนโปรแกรม Perl ด้วยตัวเอง และโลดแล่นไปอีกขั้นในวัย 15 ปี ด้วยการพัฒนา Search Engine สำหรับภาษาแมนดารินจนสำเร็จ เปิดบริษัทคอมพิวเตอร์ของตัวเองเมื่ออายุ 16 ปี และก้าวเข้าสู่ Silicon Valley ด้วยอายุเพียง 19 ปี ด้วยการเป็นนักพัฒนาหรือ Developer ให้กับบริษัท IT ยักษ์ใหญ่หลายแห่ง รวมถึง Apple ที่ Audrey Tang ได้ดูแลโปรเจค AI ขั้นสูงและยังเป็นผู้พัฒนาระบบ Virtual Personal Assistant และ Siri อีกด้วย


Audrey Tang เป็นที่รู้จักนอกวงเทคโนโลยีใน Silicon Valley มากขึ้น ด้วยการตอบรับเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวันที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไต้หวัน ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี Tsai Ing-wen เมื่อปี 2016 และเป็นรัฐมนตรีสตรีข้ามเพศคนแรกของไต้หวันอีกด้วย โดยเพศของเธอถูกระบุไว้บนบัญชีรายชื่อรัฐมนตรีว่า ‘None’


เธอก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศโดยใช้ความรู้ ความสามารถขับเคลื่อนนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่จริงในสังคมด้วยเทคโนโลยี สร้างรัฐบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ด้วย Open Data เปิดพื้นที่แชร์ความคิดและข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนาไต้หวัน และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับ vTaiwan แพลตฟอร์มที่เปิดให้ประชาชนร่วมเสนอกฎหมายและเป็นพื้นที่ถกเถียงต่อยอด เพื่อช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายออกกฎหมายได้ตรงตามสถานการณ์และความต้องการของสังคมที่แท้จริง


ผลงานอันโดดเด่นของเธอในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลคือ การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการโควิด-19 ส่งผลให้ไต้หวันสามารถควบคุมโรคระบาดได้เป็นชาติแรก ๆ ของโลก และสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมจากการมีส่วมร่วมของประชาชน อาทิ แอปพลิเคชัน Mask Map แผนที่พิกัดหน้ากาก ที่ให้ข้อมูลร้านค้าที่มีสต็อกหน้ากากอนามัยแบบ Real Time เพื่อลดความแตกตื่นในการกักตุนหน้ากากของประชาชน ให้ประชาชนตรวจสอบร้านค้าที่มีหน้ากากขายก่อนออกจากบ้านไปซื้อ ลดความเสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังโชว์ความโปร่งใสของรัฐบาลในการกระจายอุปกรณ์ป้องกันโรค และยังเชื่อมต่อข้อมูลการซื้อหน้ากากของประชาชนเพื่อวิเคราะห์การเข้าถึงหน้ากากอนามัยอย่างทั่วถึง


ตัวอย่าง Mask Map แสดงจำนวนหน้ากากที่เหลือตามร้านค้าในพื้นที่ของไต้หวัน


รวมไปถึง ระบบจองฉีดวัคซีน ที่ประชาชนสามารถเลือกชนิดวัคซีนได้ และมีระบบเตือนเมื่อถึงวันนัดหมาย ระบบติดตามผู้ป่วยโควิด ที่ใช้ได้กับทั้งโทรศัพท์รุ่นธรรมดาไปจนสมาร์ทโฟน โดยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานถึงความปลอดภัยของข้อมูลว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกส่งไปยังกลุ่มธุรกิจหรือหาผลประโยชน์แอบแฝง และจะถูกลบภายใน 28 วัน ศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงออนไลน์ เพื่อสื่อสารและชี้แจงข้อมูลโควิด-19 ที่ถูกต้องให้ประชาชน ท่ามกลางข่าว Fake News และความสับสนของข้อมูลช่วงการระบาดของโรค โดยใช้กลยุทธ์ Humor over Rumor ที่เลือกจัดการ Fake News ด้วยอารมณ์ขัน ผ่อนคลายความตึงเครียดของประชาชน หยิบภาพมีมในโลกออนไลน์มาใช้ให้คนพร้อมแชร์ข่าวที่ถูกต้องได้ และการนำแนวคิดแบบสตาร์ทอัปมาใช้กับรัฐบาล ด้วยการจัด Presidential Hackaton โครงการที่เปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ โปรแกรมเมอร์ และผู้ที่สนใจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นำเสนอไอเดียเพื่อสร้างนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง โดยไอเดียที่ชนะรางวัลจะถูกนำไปพัฒนาเป็นโครงการให้เป็นจริงภายในระยะเวลา 12 เดือนด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยจัดขึ้นทุกปีจนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว


Audrey Tang เป็นรัฐมนตรีสตรีข้ามเพศผู้เข้าอกเข้าใจปัญหาของสังคม และเชื่อมั่นในการปกครองแบบเสียงข้างมากของประชาธิปไตยที่ไม่ลืมให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาของเสียงข้างน้อยหรือความต้องการของคนกลุ่มน้อยเช่นเธอ มายกระดับเพื่อความเท่าเทียม อาจเรียกได้ว่านี่คือผลสำเร็จร่วมกันของตัวเธอและผู้คนรอบข้างที่ไม่นำอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นตัวขวางกั้นผู้คน และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ หากแต่มองหาคุณค่าร่วมกันของคนเพื่อนำไปสู่สังคมที่ดีขึ้น


หมายเหตุ: ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนสมรสของบุคคลเพศเดียวกันได้ถูกต้องตามกฎหมายและมีระดับความเท่าเทียมทางเพศสูงเป็นอันดับ 6 ของโลกและถือเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย


Tim Cook

CEO Apple



ชื่อชั้นของ Tim Cook โลดแล่นอยู่ในแวดวงเทคมายาวนาน โดยก่อนหน้าจะขึ้นเป็น CEO Apple เมื่อปี 2011 นั้น Tim Cook เป็น Chief Operating Officer หรือ COO ให้กับ Apple มาก่อน และด้วยการพาบริษัทไปแตะมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก ซึ่งสูงสุดในประวัติการณ์ชนิดที่ว่าเมื่อ Steve Jobs กุมบังเหียนอยู่ยังไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ Tim Cook ไม่เป็นที่สงสัยในความสามารถและอิทธิพลต่อแวดวงเทคโนโลยีของโลกใบนี้


ความเป็นตัวตนของ Tim Cook ยังได้เผื่อแผ่อิทธิพลไปยังชุมชน LGBTQ+ จากการออกมาเปิดตัวถึงรสนิยมทางเพศของตนเองเมื่อปี 2014 ผ่านบทความ Tim Cook Speaks Up บน Bloomberg Businessweek ว่า ตัวเองเป็นเกย์และภาคภูมิใจ นั้น เรียกได้ว่าเป็นความกล้าหาญที่เขาต้องเผชิญกับแรงเสียดทานของสังคมและผู้เกี่ยวข้องกับ Apple บริษัทที่มีมูลค่าตลาดอันดับต้น ๆ ของโลกไม่น้อย ที่อาจยังไม่ยอมรับกับความหลากหลายทางเพศ แต่สำหรับ Tim Cook แล้ว เขาให้คำจัดความการออกมาเปิดเผยตัวตนของตนเองในครั้งนั้นว่าเป็น “An Increasing Sense of Duty" หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำ เป็นสำนึกเพื่อคนในชุมชน [..LGBTQ Community..] ของเขา


Tim Cook ออกมาเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองในช่วงที่สหรัฐอเมริกาผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยส่วนตัวแล้วเขาเป็นคนที่พยายามอย่างยิ่งในการรักษาความเป็นส่วนตัวของตัวเองมาตลอดชีวิตการทำงานที่ถูกจับจ้อง แต่เขามองว่าการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของคนเช่นเขาที่เป็นถึง CEO Apple น่าจะมีความหมายต่อผู้คนในสังคมไม่น้อย และช่วยผลักดันความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น รวมถึงเป็นกำลังใจให้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะเยาวชนซึ่งเขาเคยได้รับจดหมายเล่าถึงความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจต่อตัวตนและอัตลักษณ์ทางเพศของตน เพื่อให้คนที่มีรสนิยมทางเพศหลากหลายไม่ให้ถูกมองเป็นตัวประหลาด หรือถูกกดขี่ เพื่อให้ความชอบส่วนบุคคลนี้เป็นสิ่งปกติธรรมดาสามัญที่ควรยอมรับกันได้แล้ว


ความกล้าหาญในการ Come Out ของ Tim Cook นั้นได้ปรากฏชัดแล้วว่า เขาไม่เพียงก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง แต่ยังสนับสนุนให้สังคมยอมรับความแตกต่างหลากหลายของเพศสภาพ ที่ไม่ควรเป็นกรอบกำหนดความสามารถของคนหรือกระทั่งความเป็นคนคนหนึ่ง


ส่วนหนึ่งของบทความที่ Tim Cook เขียนไว้

"[Being gay] has been tough and uncomfortable at times, but it has given me the confidence to be myself, to follow my own path, and to rise above adversity and bigotry," "It’s also given me the skin of a rhinoceros, which comes in handy when you’re the CEO of Apple."

Ann Mei Chang

ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมทางสังคม ผู้สนับสนุนการพัฒนาระดับโลก



Ann Mei Chang CEO ของ Candid องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รวบรวมดาต้าในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในภาคสังคม อาทิ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแยกตามหมวดหมู่ หรือการสร้างแพลตฟอร์มให้กับผู้ที่ต้องการดึงดูดนักลงทุนหรือต้องการระดมทุนสำหรับโปรเจกต์ที่ช่วยเหลือสังคมทั่วโลก เป็นต้น และยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านสตรีและเทคโนโลยี (Senior Advisor for Women and Technology) ในสำนักงานเลขาธิการ Global Women’s Issues ซึ่งเธอได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรเจกต์ Alliance for Affordable Internet (A4AI) ซึ่งช่วยขยายฐานการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วโลกไปยังประเทศกำลังพัฒนา


นอกจากนี้ เธอยังเคยดำรงตำแหน่ง Chief Innovation Officer (CIO) ให้กับภาครัฐและภาคสังคมหลายแห่ง อาทิ Mercy Corps ซึ่งทำงานเพื่อสร้างชุมชนที่ปลอดภัยในพื้นที่ที่เคยประสบภัยธรรมชาติ วิกฤตเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้ง หรือการเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการบริหารที่ U.S. Agency for International Development (USAID) หรือหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ โดยเธอใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมหลากหลายเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในพื้นที่อ่อนไหวและเผชิญต่อความท้าทายจากปัญหาต่าง ๆ มาแล้วทั่วโลก ก่อนจะผันตัวมาทำงานให้กับภาครัฐและภาคสังคม Ann Mei Chang เริ่มต้นอาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใน Silicon Valley กับหลากหลายบริษัท รวมถึง Apple และ Google ซึ่งที่นี่เองเธอเป็นผู้นำทีมในฐานะผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรมสำหรับตลาดใหม่ เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างวิศวกรรมของแอปพลิเคชันและบริการบนมือถือที่ทำรายได้ให้ Google เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่าในเวลาเพียง 3 ปี


Ann Mei Chang ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งใน “23 Most Powerful LGBTQ+ People in Tech” โดย Business Insider ในปี 2019 และ “20 Top LGBTQ+ Entrepreneurs, Executives and Thought Leaders” โดย Global Shakers ในปี 2019


Ann Mei Chang ไม่เคยปิดบังตัวตนของเธอ ทั้งยังมุ่งมั่นในการส่งเสริมความหลากหลายและสนับสนุนให้คนก้าวข้ามข้อจำกัดของอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อสร้างสังคมเพื่อคนทุกคนและไม่ลืมนำความเชี่ยวชาญในแบบของตนเพื่อพัฒนาสังคมโลกโดยรวม


Tech By True Digital ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเดือนแห่งความภาคภูมิใจด้วยการเชิดชูและยกย่องบุคคลที่ไม่เพียงช่วยสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ หากแต่ยังพยายามเอาชนะมายาคติ ต่อสู้เพื่อการยอมรับ เชื่อมั่น สนับสนุน ส่งเสริม ผลักดันและเป็นแรงบันดาลให้ใครก็ตาม ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อได้ดำเนินชีวิตทั้งตามความจริงและความฝันในแบบฉบับของตนเอง ในซีรีส์ Beyond Gender ตอนหน้าจะพาไปดูสวัสดิการของบริษัทเทคทั่วโลกรวมถึงไทยที่เปิดรับความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ ให้ทำงานได้อย่างสนุก สบายใจ แบบไม่มีอะไรมากั้น



ที่มา:





Comments


bottom of page