top of page

Big Data..."ไฟ" หรือ "พลังงาน" ในการขับเคลื่อนธุรกิจ?

Big Data..."ไฟ" หรือ "พลังงาน" ในการขับเคลื่อนธุรกิจ?

 


ข้อมูลในโลกดิจิทัลนับวันยิ่งทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ เพียงพิจารณาถึงแหล่งข้อมูลที่ได้จากโทรคมนาคมแค่แหล่งเดียวจะเห็นได้ว่ามีการส่งผ่านข้อมูลไม่ต่ำว่า 7,000 เทราไบต์ต่อวัน ถ้าหากพิจารณาจากแหล่งข้อมูลทั้งหมดที่ธุรกิจมี จะพบว่าธุรกิจครอบครองข้อมูลมหาศาล ซึ่งข้อมูลของธุรกิจสามารถแบ่งแหล่งที่มาได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ข้อมูลที่ธุรกิจมีสิทธิอันชอบธรรมในการครอบครอง เช่น ข้อมูลยอดขายในแต่ละช่องทางการจัดจำหน่าย และข้อมูลที่ได้รับจากภายนอกองค์กร เช่น สถิติพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อใช้งานอินเตอร์เนทของลูกค้า หากจะเปรียบอานุภาพของข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ให้เห็นภาพได้ชัดเจนคงเปรียบได้กับ “ไฟ” ซึ่งถ้านำมาใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง เช่นการนำข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลก็สามารถเผาทำลายล้างองค์กรได้ในพริบตา แต่ถ้าธุรกิจสามารถนำข้อมูลมาจัดการ วิเคราะห์ และหาจุดเชื่อมโยงกับปัญหาของธุรกิจอย่างมีเหมาะสมและมีจริยธรรม โดยมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ของผู้บริโภค (end users) หรือ สิ่งที่สังคมจะได้รับเป็นหลัก ข้อมูลเหล่านี้จะเปลี่ยนจาก “ไฟ” ที่เผาไหม้ล้างผลาญไปเป็น “ขุมทรัพย์พลังงาน” ที่ขับเคลื่อนองค์กรสามารถไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆและนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของหน่วยงาน สร้างความเป็นต่อให้กับองค์กร และ สร้างความก้าวหน้าให้แก่ภาคเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น การที่ธุรกิจสามารถนำเสนอตัวเลือกของสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการผู้บริโภค ณ ขณะที่ลูกค้ากำลังต้องการ (moment of truth) โดยการวิเคราะห์จากร่องรอยทางดิจิทัลของผู้บริโภค (digital footprints) ที่ได้รับการอนุญาตจากผู้บริโภค เมื่อพวกเขาเข้าไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ระบบจะสามารถช่วยผู้บริโภคประหยัดเวลาในการค้นหาสินค้าที่พวกเขาต้องการ ธุรกิจหรือแบรนด์นั้นๆก็สามารถเสนอขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ในเวลาที่เหมาะสม ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลที่ใช้เวลาน้อยลงในการหาสินค้าที่ต้องการ ส่วนธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรณ์ในการขายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่วนรวมในเชิงของเวลาที่สั้นลงในการสร้างโอกาสในเชิงเศรษฐศาสตร์



เส้นบางๆระหว่างข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กับ ข้อมูลที่ล่วงละเมิด

ตัวชี้วัดระหว่างข้อมูลที่เป็นประโยชน์ กับ ข้อมูลที่ล่วงละเมิด คือ การจัดเก็บข้อมูล และ นำไปใช้งานอย่าง “ถูกต้องเหมาะสม” และ “มีความรับผิดชอบ” องค์กรที่ถือครองข้อมูลต้องระลึกเสมอว่าหากข้อมูลเหล่านั้นถูกเก็บมาจากผู้บริโภค ผู้ที่ถือสิทธิในการครอบครองข้อมูลคือผู้บริโภค ดังนั้นการนำข้อมูลไปใช้จะต้องไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค รวมถึงการให้มูลค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกที่จะยินยอมให้ใช้ข้อมูล นอกจากนี้การเก็บหรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคไปใช้จะต้องโปร่งใส กล่าวคือ ผู้บริโภคจะต้องรับรู้และมีสิทธิในการยอมรับหรือปฏิเสธ ที่จะให้องค์กรหรือธุรกิจสามารถเก็บข้อมูล หรือบันทึกร่องรอยดิจิทัลของผู้บริโภค (digital footprints) อย่างไม่เป็นการบังคับ เช่น หากผู้บริโภคเข้าใช้งานในเว็บไซต์ขององค์กร ทางองค์กรจะต้องขออนุญาตผู้บริโภคในการเก็บข้อมูลการใช้งาน ไม่ใช่ว่าจัดเก็บข้อมูลโดยไม่แจ้งให้ทราบ หรือหากผู้บริโภคไม่ยินยอมให้เก็บข้อมูลแล้วปฏิเสธการให้บริการโดยสิ้นเชิง


 


หากองค์กรนำข้อมูลดิจิทัลของผู้บริโภคไปใช้อย่างล่วงละเมิด และขาดซึ่งประโยชน์กับผู้บริโภค หรือ สังคม ข้อมูลเหล่านั้นอาจกลายเป็นไฟที่กลับมาทำลายชื่อเสียง และ ความน่าเชื่อถือขององค์กรในสายตาของผู้บริโภค และ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร (stakeholders) ได้ ในทางกลับกันหากองค์กรนำข้อมูลไปใช้อย่างคำนึงถึง “สิทธิ” และ “ประโยชน์” ของผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของข้อมูลเป็นสำคัญ ข้อมูลอันมหาศาลก็จะกลายเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ที่จะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเข้าไปอยู่ในใจของผู้บริโภค และก่อประโยชน์อันมหาศาลแก่สังคม


158 views

Comments


bottom of page