top of page

10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ปี 2023 EP.2


ใน EP. ที่แล้ว Tech By True Digital ได้พาไปทำความรู้จัก 6 จาก 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่ Gartner คาดการณ์ว่าจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจที่จะได้นำไปปรับใช้ในปี 2023 อ่านได้ที่นี่ ใน EP.นี้ พามาดูเทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์อีก 4 เทรนด์สุดท้าย ที่จะเป็นแนวทางให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมได้ใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจและความยั่งยืนให้กับโลก



Theme 3: Pioneer

บุกเบิกในสิ่งใหม่ สร้างการมีส่วนร่วม เจาะตลาดโลกเสมือน

เทรนด์เทคโนโลยีของกลุ่มนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ เพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ร่วมทั้งจากลูกค้าและพนักงาน พร้อมทั้งบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ในโลกเสมือน


7) Superapps

คือ แอปพลิเคชันที่มีคุณลักษณะรวมแอปย่อย ๆ ของสินค้าและบริการ หรือ Miniapps เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ที่ใช้ชีวิตอยู่บนสมาร์ทโฟนและโลกดิจิทัลที่ต้องการใช้บริการที่หลากหลายบนอุปกรณ์พกพา เน้นความสะดวกสบายและการใช้งานที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก องค์กรที่นำเทคโนโลยี Superapps มาใช้เพื่อธุรกิจของตนเอง จะมอบประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งานให้สามารถใช้แอปเพื่อทำกิจกรรม ธุรกรรม ใช้บริการหลากหลาย เป็นแพลตฟอร์มที่มีระบบนิเวศเดียวกันอยู่ในแอปหลักเพียงเดียว อาทิ แอปที่สามารถจองตั๋วเครื่องบิน จองโรงแรม รับ-ส่งเอกสารและยังสามารถสั่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ในแอปเดียว หรือแอปพลิเคชัน TrueID ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการหลากหลายรูปแบบในแอปเดียว ทั้งการเข้าถึงคอนเทนต์ที่เป็นไลฟ์สไตล์ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูรายการทีวี รับชมกีฬาระดับโลก หรืออ่านข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ หรือทุกบริการจากทรู อาทิ การชำระเงิน การจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และสิทธิประโยชน์จากทรู เป็นต้น สิ่งสำคัญของ Superapps คือไม่เพียงเป็นการรวมแอปย่อยเอาไว้ในแอปเดียวเท่านั้นแต่จำเป็นต้องมี Interface ที่ใช้งานง่ายอีกด้วย


Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 ประชากรทั้งโลกกว่า 50% จะเป็นผู้ใช้งาน Superapps และแนวคิดนี้จะต่อยอดไปยังอุปกรณ์พกพาหรือตั้งโต๊ะอื่น ๆ ที่องค์กรจะนำไปปรับใช้ในการทำงานร่วมกัน


8) Adaptive AI

หรือ AI ที่ปรับตัวได้ มีหลักการทำงานที่แตกต่างจาก AI ดั้งเดิม คือการที่ AI สามารถปรับตัวเองได้ แก้ไข Code ที่เคยถูกเขียนมาในครั้งแรกให้เข้ากับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นและสถานการณ์ที่ต้องคาดการณ์ล่วงหน้า โดยนำข้อมูลและประสบการณ์ในอดีตมาปรับเป็นโมเดลใหม่ ให้ AI เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ แล้วนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือใช้ในการตัดสินใจที่มีการเชื่อมโยงกัน


Gartner มองว่า องค์กรที่นำ Adaptive AI มาใช้ จะกลายเป็นองค์กรที่ปรับตัวได้และมีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของทุกองค์กรที่ได้เรียนรู้จากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาและวิกฤติสภาพภูมิอากาศที่กำลังเผชิญ องค์กรที่มีความสามารถเช่นนี้จะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภายในปี 2026 Gartner ยังคาดการณ์ด้วยว่าองค์กรที่นำ Adaptive AI มาใช้ในการจัดการระบบเพื่อองค์กรและธุรกิจนั้นจะมีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่งมากกว่าองค์กรที่ใช้ AI แบบดั้งเดิมอย่างน้อย 25%


9) Metaverse

สำหรับ Gartner แล้ว Metarverse เป็นนวัตกรรมเชิงผสมผสานที่รวมเอาเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ากับสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยเปลี่ยนโลกทางกายภาพให้ขยายไปสู่โลกเสมือนจริง ซึ่งองค์กรสามารถบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงเชื่อมต่อ สร้างการมีส่วนร่วมให้กับลูกค้าในโลกเสมือนได้ ในขณะเดียวกัน โลกเสมือนจริงก็สามารถนำมาปรับใช้ภายในองค์กรเพื่อการมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกันของพนักงานได้เช่นกัน


Gartner มองว่า Metaverse สามารถมอบโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับองค์กรด้วยการใช้สินทรัพย์ธุรกิจดิจิทัล (Digital Business Assets หรือ DBA) และโมเดลการแลกเปลี่ยนมูลค่า ทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ จนเกิดเป็นตลาดใหม่ในโลกเสมือน ซึ่งการจะนำองค์กรธุรกิจไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี Metavesre นี้ องค์กรต้องทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ บริการ กลยุทธ์แบรนด์ การมีส่วนร่วมของลูกค้า และกระแสการเงินในโลกเสมือนให้ได้เสียก่อน โดยแม้ Gatner จะมองว่า Metaverse เป็นเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในช่วงต้นและยังมีความไม่แน่นอนของการลงทุนในระยะยาว แต่ก็คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 องค์กรขนาดใหญ่กว่า 40% ทั่วโลก จะใช้ Web3.0 , Spatial Computing และ Digital Twins เพื่อเพิ่มรายได้ผ่านโลกเสมือนจริงนี้ ในขณะเดียวกัน Metaverse ที่สมบูรณ์ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์หรือถูกผูกขาดการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายใดรายหนึ่ง เพราะในโลกเสมือนจะมีระบบเศรษฐกิจเสมือนจริงและสินทรัพย์ธุรกิจดิจิทัลที่จะเข้ามาสร้างกลไกใหม่ให้กับทั้งระบบนี้


Theme 4: Sustainable Technology

กรอบของทุกเทคโนโลยี คำนึงถึง ESG อย่างยั่งยืน

เทรนด์เทคโนโลยีของกลุ่มนี้เป็นเสมือนกรอบของโซลูชันและเทคโนโลยีทั้งหมด

ที่การพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรต้องคำนึงถึงแนวคิด ESG คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี


10) Sustainable Technology

Gartner นิยาม Sustainable Technology หรือเทคโนโลยีความยั่งยืน ว่าไม่ใช่เป็นเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง หากแต่เป็นกรอบของโซลูชันและเทคโนโลยีทั้งหมดที่องค์กรต้องคำนึงถึงในการนำมาใช้กับธุรกิจที่จะต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลองค์กร (ESG) และต่อลูกค้าด้วยเช่นกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ขั้นสูง การตรวจสอบย้อนกลับ ซอฟต์แวร์การจัดการการปล่อยมลพิษ บริการคลาวด์ที่ใช้ร่วมกัน และการช่วยให้ลูกค้าบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนของตนเอง องค์กรที่ลงทุนในเทคโนโลยีที่ยั่งยืนจะมีศักยภาพในการสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและประสิทธิภาพขององค์กรทั้งด้านการผลิตและการเงินที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางใหม่สำหรับการเติบโต


Gartner คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 50% ของ Chief Information Officer หรือ CIO ในองค์กรทั่วโลก จะมีตัวชี้วัดประสิทธิภาพและความสำเร็จที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนขององค์กร โดยต้องไม่ลืมว่า เทคโนโลยีที่ยั่งยืนไม่ใช่ตัวเทคโนโลยีหรือระบบที่ใช้ดำเนินงานเท่านั้น หากแต่เป็นผลลัพธ์โดยรวมของธุรกิจที่จำเป็นต้องยั่งยืนทั้งระบบ


และนี่คือทั้ง 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ที่ Gartner คาดการณ์เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัว บุกเบิกโอกาสใหม่ ๆ และไม่ลืมทำเพื่อโลกอย่างยั่งยืน ซึ่ง Gartner มองว่า AI TRiSM, Wireless-Value Realization และ Industry Cloud Platforms คือ กลยุทธ์ที่จะมีผลกระทบภายในปี 2023 นี้ ในขณะที่ Digital Immune System, Platform Engineering และ SuperApp จะมีผลกระทบใน 1-2 ปีข้างหน้า ส่วน Applied Observability, Adaptive AI และ Metaverse จะมีผลกระทบในอีก 2-3 ปี ส่วนเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้


อ่าน 6 เทรนด์ก่อนหน้านี้ได้ใน 10 เทรนด์เทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ปี 2023 EP.1


#เทรนด์เทคโนโลยี


อ้างอิง:


bottom of page