top of page

เทคโนโลยี Tree Tracker ปลูกต้นไม้ ติดตามได้ จนเติบโต



อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้นทุกวัน สืบเนื่องมาจากปริมาณการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เราจึงได้เห็นการวางแผนรับมือกับภาวะโลกร้อนในระดับโลก และระดับประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการชวนให้ผู้คนปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น แต่การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดโลกร้อนให้ได้ผลจริงนั้นไม่ได้จบแค่วันที่ปลูก แต่ยังต้องติดตามจนต้นไม้เติบโต ซึ่งในช่วงนี้เราอาจได้ยินการชวนปลูกต้นไม้จากผู้ว่าฯ กทม. อยู่บ่อยครั้งและพูดถึงการเปิดแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนได้ติดตามต้นไม้ที่ถูกปลูก Tech By True Digital จึงจะพาไปทำความรู้จักเทคโนโลยี Tree Tracker ที่คอยติดตามสถานะการปลูกต้นไม้ของเราว่าเติบโตไปถึงไหน และยังสามารถวัดข้อมูลการดูดซับคาร์บอนของต้นไม้ที่ถูกปลูกไปเพื่อโลกใบนี้ได้อีกด้วย


ปลูกต้นไม้ลดโลกร้อนได้อย่างไร


แม้ว่าปัญหาโลกร้อนจะเกิดจากภาคอุตสาหกรรมและการใช้พลังงานเป็นส่วนใหญ่ เพราะจากรายงานของศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของไทยพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 350 ล้านตันต่อปี โดยส่วนใหญ่เกิดจากภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ภาครัฐเองกางแผนนโยบายพลังงาน และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตามหลายภาคส่วนก็ส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อลดโลกร้อน เพราะการปลูกต้นไม้ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเราที่ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มปลูกต้นไม้ได้


ต้นไม้ช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกต้นไม้ดูดซับเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และถูกนำมากักเก็บในรูปแบบของเนื้อไม้ ตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบ กิ่ง ลำต้น และรากใต้ดิน


การปลูกต้นไม้ยืนต้น 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9 – 15 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และยิ่งหากปลูกถูกวิธี ปลูกบนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับพืชพันธุ์ชนิดนั้น ๆ ก็จะส่งผลให้เจริญเติบโตได้ดีและกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณสูง ในขณะเดียวกันต้นไม้ยังช่วยเพิ่มอ็อกซิเจนในบรรยากาศ ลดอุณหภูมิโดยรอบพื้นที่ของการปลูกได้ 2-4 องศาเซลเซียส และยังเพิ่มความชุ่มชื้น ปกป้องดินจากการกัดเซาะ ลดความเสี่ยงของน้ำท่วม และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์หลากหลายชนิดและพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่ระบบนิเวศที่สมบูรณ์อีกด้วย


Tree Tracker คืออะไร


การปลูกต้นไม้ช่วยลดโลกร้อนได้จริงแน่ ๆ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการดูแลรักษาต้นไม้ที่เราปลูกไปให้เติบใหญ่ อยู่คุ้มกันโลกใบนี้ได้อีกนาน ดังนั้นการปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อนที่ได้ผล จึงไม่ได้จบแค่วันที่ปลูก จึงมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อติตตามสถานะของต้นไม้ที่ถูกปลูก นั่นก็คือ Tree Tracker หรือในบางครั้งเรียกว่า Tree Traceability


Tree Tracker เป็นการผสมผสานระหว่างการนำเทคโนโลยี QR Code หรือ RFID Tag มาใช้เพื่อระบุต้นไม้แต่ละต้น การถ่ายภาพอย่างละเอียดของต้นไม้นั้นเพื่อบันทึกเป็นข้อมูล และการใช้ GPS และ GIS ระบุตำแหน่งโลเคชั่นในการปลูกต้นไม้ต้นนั้น เพื่อตรวจสอบการปลูกว่าเกิดขึ้นจริง และต้นไม้ที่ปลูกไปยังเจริญเติบโตได้ดี ไม่ถูกโค่นทำลาย รวมถึงการบันทึกข้อมูลลงระบบบล็อกเชนเพื่อให้สามารถตรวจสอบต้นไม้ที่ถูกปลูกและบันทึกข้อมูลไว้ได้อย่างโปร่งใส อีกทั้ง Tree Tracker ยังนำ AI เข้ามาช่วยประมวลผลขนาดต้นไม้กับความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำมาช่วยคำนวณการกักเก็บคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการปลูกต้นไม้ได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย


Tree Tracker จึงมีเพื่อให้การปลูกต้นไม้หรือการปลูกป่าทั้งที่ปลูกด้วยตัวเอง หรือการปลูกต้นไม้ตามโครงการ CSR ขององค์กร หรือภาครัฐ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อติดตามการดูแลรักษา การเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกไป และความโปร่งใสของโครงการที่เราเข้าร่วมในการปลูกต้นไม้ว่าไม่ปลูกทิ้ง แต่ได้รับการดูแลให้เติบโตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์คือช่วยลดโลกร้อนได้อย่างแท้จริง


และนี่คือตัวอย่าง Tree Tracker จากทั้งต่างประเทศและของประเทศไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อติดตามสถานะการปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อน


EcoMatcher

แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการปลูกต้นไม้แบบครบวงจร ที่เชี่ยวชาญในการปลูกต้นไม้ทั่วโลก โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อมีความต้องการปลูกต้นไม้จากองค์กรหรือบุคคลเกิดขึ้น EcoMatcher จะดำเนินการปลูกต้นไม้ผ่านเครือข่ายกับมูลนิธิหรือ NGOs ในประเทศที่ต้องการปลูกต้นไม้นั้น ๆ แล้วถ่ายภาพต้นไม้แต่ละต้นหลังปลูกเสร็จลงในแอปพลิเคชันที่จะลงทะเบียนพิกัด GPS ของต้นไม้ ระบุวันที่ปลูก และกำหนดหมายเลขเฉพาะให้กับต้นไม้แต่ละต้นโดยอัตโนมัติ ต้นไม้แต่ละต้นจะมีผู้ดูแลที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่จากมูลนิธิหรือ NGOs เครือข่าย โดยในแอปจะมีการระบุสถานะของต้นไม้เป็นระยะว่าขนาดของต้นไม้ในเวลานี้ โตเท่านี้ ช่วยกักเก็บคาร์บอนไปได้เท่าไหร่ด้วย


--- แอปพลิเคชันปลูกต้นไม้และติดตามสถานะต้นไม้ จาก EcoMatcher ---

ที่มา: https://www.ecomatcher.com/


เจ้าของต้นไม้แม้ไม่ได้ปลูกเองแต่สามารถเข้าไปติดตามต้นไม้ของตนเองผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้ระบบแผนที่ดาวเทียมที่ระบุตำแหน่งต้นไม้ที่ปลูกได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึงการเข้าไปดูรายละเอียดพันธุ์ของต้นไม้ที่ถูกปลูก วันที่ปลูก สถานะการเติบโต และเกษตรกรที่ดูแลต้นไม้ต้นนี้อีกด้วย ในขณะเดียวกันต้นไม้ทุกต้นที่ถูกปลูกโดย EcoMatcher จะถูกเก็บไว้บนแพลตฟอร์มของ EcoMatcher ที่ใช้ระบบบล็อกเชนซึ่งสามารถมองเห็นและตรวจสอบได้แม้จะไม่ใช่ต้นไม้ของตนเองก็ตาม


--- ระบบ Track Your Tree ติดตามสถานะต้นไม้ที่ถูกปลูก จาก EcoMatcher ---

ที่มา: https://www.ecomatcher.com/


ในประเทศไทยเองก็มีหลายธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้โดยใช้บริการ EcoMatcher อาทิ แกร็บ ประเทศไทย ที่เปิดตัวโครงการปลูกป่า “GrabforGood” เพื่อชดเชยคาร์บอนที่เกิดจากการเดินทาง โดยชวนผู้ใช้บริการการเดินทางด้วยแกร็บรถยนต์หรือจักรยานยนต์ บริจาคเงินต่อเที่ยวการเดินทาง เมื่อบริจาคครบตามกำหนด ผู้ใช้บริการจะได้รับการแจ้งเตือนผ่านทางอีเมลหรือแอปพลิเคชัน Grab ว่าได้รับต้นไม้ที่จะนำไปปลูก ซึ่งดำเนินการโดย EcoMatcher ผ่านองค์กร Conserve Natural Forests (CNF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าธรรมชาติในประเทศไทย ซึ่งผู้ใช้งานที่บริจาคเงินถือเป็นเจ้าของต้นไม้ต้นนั้น สามารถเข้าไปตั้งชื่อต้นไม้ของตนเอง และติดตามการเติบโตของต้นไม้ผ่าน EcoMatcher ได้


โครงการปลูกป่า “GrabforGood” จาก แกร็บ ประเทศไทย


We Grow

แอปพลิเคชันพัฒนาโดยคนไทยจาก ทรู คอร์เปอเรชั่น เปิดให้ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2015 เพื่อสนับสนุนการปลูกต้นไม้ และดูแลรักษาต้นไม้ทั้งที่ปลูกด้วยตนเอง หรือปลูกผ่านโครงการโดยองค์กร แล้วติดตามการเติบโตของต้นไม้ บันทึกเป็น Timeline ในการติดตามและการดูข้อมูลต้นไม้แต่ละช่วงอายุ แล้วจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลการปลูกต้นไม้ จำนวนต้นไม้และสมาชิกที่ปลูก รวมทั้งปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของการปลูกต้นไม้ทั้งหมดที่ผ่านมา


--- แอปพลิเคชัน We Grow ---

ที่มา: https://www.wegrow.in.th/


ในขณะเดียวกัน We Grow ยังส่งเสริมให้แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ เมื่อพบเจอพันธุ์อนุรักษ์ และพิกัดสถานที่ที่พบ เพื่อร่วมอนุรักษ์และป้องกันการทำลาย สร้างเครือข่ายคนรักต้นไม้ด้วยการให้แสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลต้นไม้ระหว่างผู้ปลูกด้วยกัน รวมทั้งยังมีคลังข้อมูลความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ชนิดต่าง ๆ การดูแลรักษา คุณประโยชน์ ในแอปอีกด้วย


โดย We Grow ระบุสถานะปัจจุบันว่ามีบันทึกการปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 6,126,273 ต้น โดยสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แล้วกว่า 332,132 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565)

We Grow ได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน จากงาน The 43rd International Exhibition of Inventions, Geneva 2015 งานแสดงสิ่งประดิษฐ์และผลงานนวัตกรรมระดับโลก ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสอีกด้วย


Collector for ArcGIS

ระบบติดตามการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปัจจัยสำคัญในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ที่ต้องการการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง คือ การมีปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเกิดฝนและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็นแนวทางสำคัญในการส่งเสริมภารกิจนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงริเริ่มโครงการ ‘ปลูกป่าและไม้ยืนต้น สร้างความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวงฯ’


โครงการนี้ไม่เพียงส่งเสริมให้มีการปลูกป่าเท่านั้น แต่ยังมีการนำระบบติดตามการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ผ่านโมบายแอปพลิเคชัน มาเป็นเครื่องมือในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานอีกด้วย โดยระบบการทำงานของแอปคือเมื่อปลูกต้นไม้แล้ว ผู้ปลูกจะต้องบันทึกข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก วันที่ปลูก พื้นที่ปลูก และชื่อผู้ปลูกลงในระบบ โดยผู้ปลูกสามารถติดตามและอัปเดตข้อมูลการปลูกต้นไม้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ที่หน้าเว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร


--- แอปพลิเคชัน Collector for ArcGIS กรมฝนหลวงและการบินเกษตร---

BKK 1 Million Trees ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้กรุงเทพมหานคร

โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ภายใน 1 ปีของกรุงเทพมหานครโดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน ก็อยู่ในระหว่างการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อติดตามการปลูกต้นไม้ภายใต้โครงการนี้แบบครบวงจร ซึ่งสำหรับเฟสแรกของการพัฒนาระบบติดตามการปลูกต้นไม้ กทม. ได้จัดทำ Dashboard “ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้” ทางเว็บไซต์ www.bkk1milliontrees.com สำหรับให้ประชาชน หน่วยงานและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการปลูกต้นไม้ได้ติดตามผลการปลูกต้นไม้ แผนที่แสดงจุดปลูกและจำนวนต้นไม้ที่ได้ปลูกไปแล้ว ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 แสดงรายงานการปลูกต้นไม้ที่เสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว 48,313 ต้น แยกเป็นประเภทไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และยอดจองการปลูกต้นไม้ร่วมกับโครงการ ที่มียอดปัจจุบันอยู่ที่ 1,641,310 ต้น รวมถึงมีช่องทางแจ้งความประสงค์ปลูกต้นไม้เพื่อเข้าร่วมโครงการสำหรับหน่วยงานและภาคเอกชน ส่วนช่องทางการร่วมโครงการสำหรับประชาชนทั่วไปยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา


--- Dashboard “ศูนย์รายงานการปลูกต้นไม้” กรุงเทพมหานคร ข้อมูล ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565

ที่มา: www.bkk1milliontrees.com


เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีเพื่อการติดตามการปลูกต้นไม้ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้วงจรการปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อนนั้นเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง หากคุณอยากเริ่มปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดโลกร้อน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นปลูกอะไรดี องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของไทย ได้รวบรวมพันธุ์ไม้ พื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับชนิดพืชนั้น ๆ ให้เจริญเติบโตดี และรายละเอียดปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ให้สามารถเข้าไปศึกษาได้ก่อนเริ่มปลูก เพื่อที่ปลูกทั้งที จะได้เลือกต้นไม้ที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณสูง ศึกษารายละเอียดได้ที่ ปลูกต้นไม้...ช่วยลดโลกร้อนได้ยังไงนะ


ไม่ว่าการเริ่มต้นปลูกต้นไม้ของคุณจะเป็นไปเพื่อจุดประสงค์ใด เพื่อสนับสนุนองค์กรในการสร้างรายได้จากการมีคาร์บอนเครดิต เพื่อการทำโครงการ CSR ของบริษัท หรือเพื่อความต้องการส่วนตัวโดยสร้างความร่มรื่นให้กับพื้นที่อยู่อาศัยหรือความตั้งใจเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ให้กับโลก เป็นส่วนหนึ่งในการลดโลกร้อน แต่เมื่อได้ลงแรงกายแรงใจปลูกต้นไม้ไปแล้ว อย่าลืมติดตามสถานะต้นไม้ที่ได้ปลูกไป ว่าเจริญเติบโตไปถึงไหน ต้องการการดูแลรักษาอย่างไร เพื่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนและมีประสิทธิผลในการลดโลกร้อนอย่างแท้จริงในระยะยาว


#ปลูกต้นไม้


อ้างอิง:


תגובות


bottom of page